ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาเกาหลี
1. ระบบภาษาเกาหลี ภาษาเกาหลีถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาคำติด กล่าวคือในหนึ่งคำมักมีหลายพยางค์ สามารถแบ่งออกได้เป็นหน่วยคำ ไม่อยู่โดดๆเช่นภาษาไทย แต่ในแต่ละหน่วยคำจะมีความหมาย และมีการเปลี่ยนรูปของหน่วยคำไปตามคำที่อยู่ติดกันและทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปด้วย
2. มีการบังคับโยงเสียงระหว่างพยางค์ คล้ายกับในภาษาอังกฤษ เช่น คำว่า For example เราจะได้ยินคนชาติตะวันตกพูดว่า ฟอเร็กแซมเพิล ไม่ใช่ ฟอเอ็กแซมเพิล ซึ่งในข้อนี้ผมจะค่อย ๆ อธิบายไปตามลำดับ เนื่องจากกฎการออกเสียงในภาษาเกาหลีมีหลากหลายมากครับ
3. ประกอบด้วยพยัญชนะและสระ สามารถแบ่งออกเป็นพยัญชนะและสระได้เช่นเดียวกับภาษาไทย แต่จะไม่มีวรรณยุกต์ โดยพยัญชนะจะสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม สำหรับสระนั้นจะแบ่งเป็นสระเดี่ยว และสระผสม
4. มีการผันคำกริยา สำหรับผู้ที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาน่าคงคุ้นเคยกันดี แต่ผมขอยืนยันเลยครับว่าในการผันคำกริยาของภาษาเกาหลีนั้นไม่ยากเท่ากับภาษาญี่ปุ่น โดยเปรียบเทียบแล้วสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า ผมขอยกตัวอย่าง ณ ตรงนี้ไว้ก่อนสักคำหนึ่งครับ เป็นภาษาระดับสุภาพทั่วไป ใช้ได้ในหลายโอกาสครับ
ภาษาไทย | ภาษาเกาหลี |
ไป | คาโย |
ไปกันเถอะ | คับชิดา |
(จะ)ไปไหม | คัลเกโย้? |
ไปแล้ว/ได้ไป(รูปอดีต) | คัสซอโย |
จะไป | คัล กอเยโย |
5. ความสุภาพของภาษา ภาษาเกาหลีเป็นภาษาที่มีระดับความสุภาพ 3 ระดับ แบ่งตามโอกาสการใช้งาน โดยระดับแรกนั้นจะเป็นระดับสุภาพที่เป็นทางการ มักใช้ในสถานที่ที่ต้องการความเป็นทางการ เช่น ทางการทหาร การประกาศข่าว การประชาสัมพันธ์ภายในสถานที่ การใช้กับบุคคลอาวุโสหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้พูด และอาจรวมถึงการสนทนากับลูกค้าที่ต้องการความเป็นทางการในการสนทนา โดยจะมีภาษาสุภาพรูปยกย่องคู่สนทนาเพิ่มเติมด้วย สำหรับระดับที่สองนั้นจะเป็นระดับสุภาพที่ไม่เป็นทางการ มักใช้ได้ในการติดต่อสื่อสารทั่วไป และระดับสุดท้าย จะเป็นระดับที่ใช้กับเพื่อนสนิทหรือผู้ฟังที่มีอายุน้อยกว่า หรือมีสถานะทางสังคมต่ำกว่า
6. โครงสร้างประโยค การลำดับประโยคจะแตกต่างจากภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง โดยในภาษาไทยนั้นเราจะเรียง ประธาน กริยา กรรม แต่สำหรับในภาษาเกาหลีนั้น โครงสร้างประโยคจะเป็น ประธาน กรรม กริยา และสำหรับส่วนขยายนั้นจะวางไว้ข้างหน้าคำที่ถูกขยาย คล้ายกับภาษาญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น ผมจะไปกินข้าวด้วยกันกับเพื่อนพรุ่งนี้ตอนบ่ายสอง ภาษาเกาหลีจะเรียงเป็น ผม พรุ่งนี้ สอง บ่าย ตอน เพื่อน กับ ข้าว กิน ไป (จะ) เรียกได้ว่าเรียกว่ากลับกันอย่างสิ้นเชิง แต่อย่าเพิ่งท้อครับ มันไม่ได้ยากเกินความเข้าใจครับ มาดูข้อต่อไปกันเลยดีกว่า
7. คำช่วย หลายคนอาจจะงงว่าคำช่วยคืออะไร ผมจะตอบว่ามันจะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับ Preposition ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษมีปัญหาเรื่องไวยากรณ์ในส่วนนี้มาก เพราะแทบจะต้องจำหมดเกือบทุกคำศัพท์ว่าคำไหนใช้กับ preposition ตัวใด ทำให้ใช้ผิด ๆ ถูก ๆ แต่สำหรับภาษาเกาหลีนั้น คำช่วยจะถูกพ่วงติดกับ ประธาน กรรม กริยา เพื่อบอกว่าคำไหนทำหน้าที่เป็นอะไรของประโยค เช่น บอก สถานที่ เวลา วิธีการ ตำแหน่ง ทิศทาง ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ระบบภาษาเกาหลีนั้นไม่ยาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น